ลักษณะคำประพันธ์


ลักษณะคำประพันธ์


แต่งเป็นร่ายยาว มีจุณณียบท ซึ่งใช้ภาษาบาลีเป็นบทนำเรื่องของแต่ละกัณฑ์ ส่วนเนื้อเรื่องยกคาถาบาลีขึ้นเป็นหลักแล้วแปลแต่งเป็นภาษาไทย ด้วยร่ายยาว คาถา คือ ฉันท์ที่แต่งภาษาบาลี เรียก ปัฐยาวัตฉันท์ คาถาหนึ่ง คือฉันท์บทหนึ่ง ดังนั้น ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก มีพันคาถา จึง ฉันท์พันบท 
             วรรณคดีแบ่งได้หลายประเภท เช่น แบ่งตามลักษณะของกวี คือ วรรณคดีซึ่งเป็นงานของอรรถกวี สุตกวี  จินตกวี ปฏิภาณกวี หรือ แบ่งตามลักษณะของสำนวนโวหาร คือ เสาวรจนี นารีปราโมทย์ พิโรธวาทัง   สัลลาปังคพิสัย
สำหรับมหาเวสสันดรชาดก มีลักษณะวรรณคดีครบครันไม่ว่าจะพิจารณาในแง่วรรณคดีประเภทใด

ลักษณะที่เป็นงานของอรรถกวี 
          อรรถกวี คือ กวีที่สามารถบรรยายความได้ละเอียดแจ่มแจ้ง ใช้คำอุปมาอุปไมยลึกซึ้งคมคาย มหาเวสสันดรชาดก มีลักษณะเป็นงานของกวีประเภทนี้อยู่มาก เช่นตอนพระนางผุสสดีกราบทูลชี้แจงต่อพระเจ้าสญชัยถึงความไม่เหมาะสมที่เนรเทศ พระเวสสันดร และตอนพระนางมัทรีกราบทูลพรรณนาโทษของหญิงม่าย แด่พระเจ้าสญชัยใน กัณฑ์ทาน  ตอนพระเวสสันดรตรัสเรียกสองกุมารขึ้นจากสระ ทรงอธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องให้สองกุมารเป็นบุตรทานแก่ชูชก โดยทรงเปรียบเทียบกับเรือสำเภาใน กัณฑ์กุมาร
ลักษณะที่เป็นงานของสุตกวี
  
        สุตกวี หมายถึง กวีซึ่งนิพนธ์เรื่องราวตามเค้าเรื่องหรือแนวคิดที่ได้ยินได้ฟังมา และสามารถสรุปแต่งให้พิเศษพิสดารออกไปจากเดิม มหาเวสสันดรชาดก เป็นเรื่องที่มีต้นเค้ามาจากชาดกภาษาบาลี กวีหลายท่านช่วยกันถอดความและนิพนธ์ขึ้นเป็นภาษาไทยด้วยถ้อยคำอันไพเราะ นอกจากจะได้อาศัยฉบับภาษาบาลีเป็นหลักแล้ว ยังได้แนวทางการถอดความและเรียบเรียงจากมหาชาติคำหลวง ซึ่งเป็นมหาชาติฉบับภาษาไทยเล่มแรก และกาพย์มหาชาติ ซึ่งเป็นฉบับที่สอง
ลักษณะที่เป็นงานของจินตกวี
          จินตกวี คือ กวีที่สามารถผูกเรื่องราวต่างๆขึ้นได้ใหม่ ตามความคิดนึกของตนเอง มิได้ลอกเลียนจากผู้ใด มหาเวสสันดรชาดกเป็นงานของสุตกวี คือ ได้เค้าเรื่องมาจากชาดกภาษาบาลีและมหาชาติฉบับภาษาไทย ๒ ฉบับดังกล่าวมาแล้วก็จริง แต่กวีผู้นิพนธ์มหาเวสสันดรชาดกกลอนเทศน์ฉบับนี้ได้ใช้ความคิดคำนึงของตนเองอยู่มาก เช่นใช้ลักษณะคำประพันธ์ประเภทร่ายยาว ผิดแผกออกไปจากมหาชาติคำหลวง ซึ่งใช้คำประพันธ์หลายอย่าง และใช้สำนวนโวหารพิสดารและกระชับรัดกุมดีกว่ากาพย์มหาชาติ สามารถใช้เทศน์จบได้ในวันเดียวทั้ง ๑๓ กัณฑ์ นิยมใช้เทศน์กันแพร่หลายจึงถือว่า มหาเวสสันดรชาดกกลอนเทศน์เป็นงานของจินตกวีได้ส่วนหนึ่ง

ลักษณะที่เป็นงานของปฏิภาณกวี
         
ปฏิภาณกวี คือ กวีที่สามารถนิพนธ์เรื่องราวได้ฉับพลันทันใด โดยมิต้องตระเตรียมไว้ล่วงหน้า สำหรับมหาเวสสันดรชาดกกลอนเทศน์ ถึงแม้มิได้แต่งเป็นกลอนสดทันทีทันใดก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อความหลายตอนซึ่งบุคคลในเรื่องกล่าวโต้ตอบกันในฉับพลันทันที  และแสดงความมีปฏิภาณหลักแหลม เช่น ตอนพระนางมัทรี กราบทูลปฏิเสธไม่ยอมอยู่ในเมือง และไม่ยอมถวายสองกุมารตามที่พระเจ้าสญชัยตรัสขอในกัณฑ์ทาน
ลักษณะที่เป็นวรรณคดีตามโวหารเสาวรจน
       ซึ่งเป็นกระบวนความชมความงาม พรรณนาเกียรติคุณ เช่น ตอนพระเวสสันดรชมความงามของพระนางมัทรีในกัณฑ์มัทรี
ลักษณะที่เป็นวรรณคดีตามโวหารนารีปราโมทย์
       ซึ่งเป็นการแสดงการเกี้ยวพาราสี เช่น ตอนชูชกกล่าวปลอบนางอมิตตดา เมื่อถูกพราหมณีชาวบ้านทุนวิฐกล่าวเสียดสี และนางพาลโกรธชูชกในกัณฑ์ชูชก
ลักษณะที่เป็นวรรณคดีตามโวหารพิโรธวาทัง

        คือ การกล่าวแสดงความไม่พอใจ เช่น ความโกรธ โดยใช้โวหารประชดประชัน ตัดพ้อ ต่อว่า ข่มขู่ ด่าว่า เช่น ตอนพระมัทรีกราบทูลตัดพ้อพระเจ้ากรุงสญชัยที่ไล่พระเวสสันดรใน กัณฑ์ทาน
ลักษณะที่เป็นวรรณคดีตามโวหารสัลลาปังคพิสัย 
        คือ การแสดงความโศกเศร้า ความคร่ำครวญอาลัยรัก เช่น ตอนพระผุสสดีรำพันความยากลำบากที่พระเวสสันดร และพระมัทรีจะได้รับขณะถูกเนรเทศในกัณฑ์ทาน